เอกรงค์สโมสร > ห้องสมุด > เรื่องของน้ำยา > การเตรียมน้ำยา  
การเตรียมน้ำยา
เรียบเรียงโดย นฤพล ไกรฤกษ์
ความปลอดภัยในการทำงาน
  เรื่องของการเตรียมน้ำยาต่างๆในกระบวนการ ล้าง-อัดขยายภาพนั้น มีกระบวนการทางเคมีเป็นพื้นฐาน ดังนั้นผู้เตรียมควรจะทราบ ถึงเรื่อง สมบัติของสารเคมีแต่ละตัว และระมัดระวังความปลอดภัยในการเตรียมอย่างเคร่งครัด ความปลอดภัยในที่นี้รวมไปถึง ขณะที่เรา ชั่ง-ตวง สารเคมีด้วย
  • ควรเตรียมน้ำยาในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ในกรณีที่อยู่ในห้องแอร์ ควรมีระบบระบายอากาศ อย่างดี สำหรับในห้องทั่วไปแนะนำให้ใช้ พัดลมตั้งไว้ที่หน้าต่าง โดยหันด้านหน้าพัดลมออกไปทางหน้าต่าง ด้านหลังพัดลมจะเป็นตัวดูดอากาศแทนโดยไม่ทำให้สารเคมีฟุ้งกระจาย
  • การแต่งกาย เรายึดหลักว่าไม่ควรให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างการสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง ควรสวมเสื้อที่ปกคลุมร่างกายค่อนข้างมิดชิด สวมถุงมือยาง (แบบที่ใช้ล้างห้องน้ำ) ผ้าปิดปาก-จมูก (หาซื้อได้ตามร้านขายยาใหญ่ๆ) สวมแว่นตาเพื่อป้องกันสารเคมีปลิวเข้าตา (เคยเห็นแว่นตาแบบเป็นอะคลิลิคอันใหญ่ๆ หาซื้อได้ในราคา 190 บาท เอามาใช้ก็ได้ใส่เที่ยวก็ได้) และไม่ควรสวมนาฬิกาขณะทำงานกับสารเคมี เพราะนาฬิกาจะเสีย
  • สมบัติเฉพาะตัวของสารเคมีแต่ละชนิดนั้นแตกต่างกันไป บางชนิดเป็นผงหรือผลึกที่มี น้ำหนักเบามาก เช่น Hydroquinone สามารถปลิวได้ง่าย หรือสารเคมีบางตัวเป็นกรดเข้มข้นและมีกลิ่นรุนแรงมาก ดังนั้นผู้เตรียม ควรศึกษาสารเคมีที่จะใช้ให้ดี โดยอาจสอบถามจากร้านค้าหรือตัวแทนจำหน่าย ที่ขายสารเคมีนั้น เพื่อความปลอดภัยของเราเอง


การเลือกใช้สารเคมี
   ข้อคำนึงในการจัดหาสารเคมีที่จะนำมาใช้นั้น มีเรื่องใหญ่ๆ อยู่ 2 เรื่องคือ
1. ความบริสุทธิ์ของสารเคมี
        สารเคมีที่มีขายโดยทั่วไปมีความบริสุทธิ์หลายระดับ สารเคมีที่มีความบริสุทธิ์มากที่สุด ราคาก็จะสูงตามไปด้วย ซึ่งก็อาจจะแพงเกินไปและไม่มีความจำเป็นที่จะนำมาใช้ในการเตรียมน้ำยา ความบริสุทธิ์ของสารเคมีแบ่งเกรดได้ดังนี้

ก. ความบริสุทธิ์สูงสุด (ultra-pure) ใช้เป็นสารมาตรฐาน (primary standard) ในการปรับเครื่องมือ และการวิเคราะห็ทางเคมี
ข. สารที่ใช้ในการวิเคราะห์ (analytical reagent, A.R.) เป็นสารที่ใช้สำหรับวิเคราะห์ทั่วไป มีความบริสุทธิ์ค่อนข้างสูง
ค. สารเคมีที่มีความบริสุทธิ์ระดับเภสัชศาสตร์ (British Phamacopoedia, B.P.) กำหนดโดย British Phamacopoedia สารเคมีในเกรดนี้มีความบริสุทธิ์น้อยกว่าในข้อ ก. และมีค่ากำหนดบอกปริมาณสูงสุดของสารเจือปนที่ทำให้ไม่บริสุทธิ์
ง. สารเคมีสำหรับห้องปฏิบัติการ (laboratory reagent หรือ pure) สารเคมีเกรดนี้มีการกำหนดสมบัติค่อนข้างกว้างขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิต สารเคมีบางชนิดที่มักใช้ในงานการถ่ายภาพ เช่นพวกสารสร้างภาพต่างๆ บางบริษัทก็จะระบุมาเลยว่าเป็น photographic grade
จ. สารเคมีทางการค้าและเทคนิค (technical หรือ commercial) มีความบริสุทธิ์ค่อนข้างต่ำ
    สำหรับสารที่เราจะนำมาใช้ในการเตรียมน้ำยานั้นแนะนำให้ใช้สารในเกรด ค. หรือ ง. ก็จะเหมาะสม โดยคำนึงถึงปริมาณการใช้ และความจำเป็นของน้ำยาแต่ละชนิดด้วย เช่น สำหรับ fixer (สารส่วนใหญ่คือ Sodium Thiosulphate) ซึ่งในการใช้งานจริง เราเองก็ไม่สามารถรับรู้ถึงผลของสารเคมีที่ใช้ ได้อย่างชัดเจนนัก คือไม่ได้เคร่งครัดในเรื่องการเกิดปฏิกิริยามากจนเกินไป ก็อาจไม่จำเป็นที่จะใช้สารเคมี ที่มีความบริสุทธิ์สูงมากนักก็ได้

2. ปริมาณน้ำผลึก และรูปแบบของสาร
    ปริมาณน้ำผลึก เป็นบริมาณของน้ำ ที่แทรกอยู่ในโมเลกุลของสาร ถ้ามีอยู่มากก็จะทำให้เราได้เนื้อสารในการทำปฏิกิริยาน้อยลง เช่น สารตัวหนึ่ง มีปริมาณน้ำแทรกอยู่ 2 โมเลกุลต่อ 1 โมเลกุลของสาร เมื่อชั่งสาร ในน้ำหนักที่เท่ากัน กับสารตัวเดียวกันที่ไม่มีโมเลกุลของน้ำแทรกอยู่ เราก็จะได้ปริมาณสารเคมีที่เข้าทำปฏิกิริยาน้อยกว่าเนื่องจาก น้ำหนักที่ได้ก็จะเป็นน้ำหนักของน้ำเสียส่วนหนึ่ง ในชื่อทางเคมีของสารนั้น มักจะระบุปริมาณของน้ำที่แทรกอยู่ด้วย เช่น

Anhydrous คือสารที่ได้รับการสกัดน้ำออกจน(เกือบ)หมด
disiccated คือสารที่มีปริมาณน้ำแทรกอยู่น้อยมาก
Monohydrated คือสารที่มีน้ำแทรกอยู่ 1 โมเลกุล ต่อ 1 โมเลกุลสาร
Pentahydrated คือสารที่มีน้ำแทรกอยู่ 5 โมเลกุล ต่อ 1 โมเลกุลสาร
Decahydrated คือสารที่มีน้ำแทรกอยู่ 10 โมเลกุล ต่อ 1 โมเลกุลสาร
    และโดยส่วนใหญ่แล้วสารเคมีที่มีลักษณะเป็นผง จะมีความสามารถในการดูดความชื้น (น้ำ) เข้ามาสะสมเอาไว้ เราจึงต้องเก็บสารเคมีในที่แห้ง และเก็บในภาชนะที่มิดชิดปิดฝาให้แน่น และไม่ควรเปิดฝาทิ้งไว้ ดังที่เราจะสังเกตได้ว่าสารเคมีผง ที่เก็บไว้นานๆมักจะจับตัวเป็นก้อน นั้นก็คือมีปริมาณน้ำสูงขึ้นแล้ว
    แต่ถ้าหากว่าสารเคมีที่เรามีอยู่นั้นมีรูปแบบ ไม่ตรงกับที่สูตรกำหนด เรามีวิธีคำนวนเพื่อเปลี่ยนน้ำหนักที่จะใช้ตามตารางนี้
 
สารที่คุณมี แต่ในสูตรระบุว่า ให้คูณปริมาณ
ในสูตรด้วย
Borax (Sodium Borate, Pentahydrated) Borax (Sodium Borate, Decahydrated) 0.76
Borax (Sodium Borate, Decahydrated) Borax (Sodium Borate, Pentahydrated) 1.31
Sodium Carbonate, Monohydrated Sodium Carbonate, Anhydrated 1.20
Sodium Carbonate, Crystal 2.33
Potassium Carbonate, Anhydrous* 0.90
Potassium Carbonate, Anhydrous Sodium Carbonate, Monohydrated* 1.12
Sodium Hydroxide Potassium Hydroxide 1.40
Potassium Hydroxide Sodium Hydroxide 0.72
Kodalk (Balanced Alkali) (Sodium Metaborate)** Sodium Carbonate, Monohydrated* 1.70
Sodium Carbonate, Monohydrated Kodalk (Balanced Alkali) (Sodium Metaborate) 0.59
Acetic Acid (Glacial) Acetic Acid (28%) 0.28
Acetic Acid (28%) Acetic Acid (Glacial) 3.54
Sodium Thiosulfate (Crystal) Sodium Thiosulfate (Anhydrated) 1.57
Sodium Thiosulfate (Anhydrated) Sodium Thiosulfate (Crystal) 0.64
Potassium Bromide Sodium Bromide 1.16
Sodium Bromide Potassium Bromide 0.86
Sodium Acetate (Anhydrated) Sodium Acetate (Crystal) 0.60
Sodium Acetate (Crystal) Sodium Acetate (Anhydrated) 1.66
Sodium Sulfate (Anhydrated) Sodium Sulfate (Crystal) 0.44
Sodium Sulfate (Crystal) Sodium Sulfate (Anhydrated) 2.27
Sodium Sulfite (Anhydrated) Sodium Sulfite (Crystal) 0.50
Sodium Sulfite (Crystal) Sodium Sulfite (Anhydrated) 2.00
Potassium Thiocyanate Sodium Thiocyanate 1.00
Sodium Thiocyanate Potassium Thiocyanate 1.00
Benzotriazole (Anti-Fog #1) 6-Nitrobenzimidazole Nitrate (Anti-Fog #2) 1.00
6-Nitrobenzimidazole Nitrate (Anti-Fog #2) Benzotriazole (Anti-Fog #1) 1.00
* ไม่แนะนำให้ใช้แทนกันในทุกกรณี
** เป็นอีกฟอร์มหนึ่งของ Sodium Metaborate
ตารางที่ 1. แสดงตัวตูณสำหรับแปลงปริมาณสารต่างๆ *1
(ตารางนี้เรียบเรียงโดย D. William Reichner)

    อย่างเช่น เรามี Borax (Sodium Borate, Pentahydrated) อยู่ แต่ในสูตรระบุว่าให้ใช้ Borax (Sodium Borate, Decahydrated) น้ำหนัก 10 g เราก็ใช้ 10 X 0.76 นั่นคือเราใช้ Borax (Sodium Borate, Pentahydrated) เพียง 7.6 g ก็จะได้ผลไกล้เคียงกัน
    แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเราใช้สารเคมีใดๆ ยี่ห้อใดในการเตรียมน้ำยาและทดสอบได้ผลเป็นที่น่าพอใจแล้วก็ควรใช้สารเคมีในรูปแบบ และระดับความบริสุทธิ์นั้นๆ ต่อไป หมายความว่าเราได้ทำ local standard ของเราขึ้นมาเองซึ่งก็เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเรา ซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อนไปจากของคนอื่นบ้าง

เรื่องของน้ำ
    น้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการล้าง - ขยายภาพ เราให้ความสำคัญกับน้ำ ทั้งในแง่ของสารละลายพื้นฐาน ในการเตรียมน้ำยาต่างๆ และในกระบวนการล้าง น้ำมีหน้าที่เป็นตัวเจือจาง และใช้ชะล้างสารต่างๆ ที่ตกค้างอยู่ในวัสดุไวแสง

คุณภาพของน้ำที่ใช้
    น้ำที่ใช้เตรียมน้ำยาได้ดีที่สุด คือน้ำกลั่นหรือน้ำกรองแบบที่ใช้กันอยู่ในห้องปฏิบัติการเคมี (Distilled หรือ De-ionized Water) (ไม่ใช่น้ำกลั่นแบบเติมแบตเตอร์รี่) ซึ่งจะมีคุณสมบัติดังนี้

  1. เป็นน้ำอ่อน ที่มีความกระด้าง (total hardness) ไม่เกิน 50 ส่วนในล้านส่วน (part per million, ppm) หมายความว่า มีปริมาณเกลือคาบอร์เนต ซัลเฟต คลอไรด์ ของแคลเซียมหรือแมกนีเซียมน้อยกว่า 50 ppm หรือไม่มีเลย
  2. ในน้ำมีโลหะเจือปน เช่น ทองแดงไม่เกิน 0.5 ppm หรือเหล็ก 5 ppm เพราะทองแดงเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาของสารสร้างภาพ กับออกซิเจนในอากาศ ทำให้น้ำยาสร้างภาพเสียเร็วขึ้นและปฏิกิริยาสร้างภาพเกิดไม่สมบูรณ์ และเหล็กทำให้เกิดจุดสีน้ำตาล (brown staining) เนื่องจากเกิดเฟอริกไฮดรอกไซด์ในเจลาตินบนฟิล์มหรือกระดาษ
  3. ในน้ำต้องไม่มีสารอินทรีย์ และจุลินทรีย์ต่างๆ เช่น คราบน้ำมัน สาหร่าย (algae), เชื้อรา (mould or fungi), แบคทีเรีย จุลินทรีย์ต่างๆเหล่านี้จะทำให้เกิดสารอินทรีย์จับตัวกันเป็นก้อนหรือเป็นตะกอนในน้ำยาสร้างภาพ เราอาจแก้ใขได้โดยการกรอง (filtration) หรือกำจัดด้วยคลอรีน หรือไฮโปคลอไรท์
    แต่น้ำที่ใช้ในการ washing เพื่อชะล้างเอาสาร fixer ออกในขั้นตอนการล้างฟิล์มและกระดาษนั้น น้ำประปาธรรมดาจะให้ผลดีกว่า น้ำกลั่น โดยจะอธิบายภายหลัง ในบทเรื่องของการล้างฟิล์ม และกระดาษ

แล้วเราควรซีเรียสกับเรื่องของน้ำที่ใช้มากขนาดไหน ?
    ถึงแม้(จะทราบ)ว่าน้ำกลั่นเป็นน้ำที่ดีที่สุดสำหรับการเตรียมน้ำยา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการ ใช้น้ำกลั่นมาเตรียมน้ำยาทุกสูตร เนื่องจากเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และทำให้เป็นการตึงเครียดมากเกินไปในการทำงาน เพราะเมื่อเราตัดสินใจว่า จะใช้น้ำกลั่นในการเตรียมน้ำยาตัวใดแล้ว อุปกรณ์ทุกชิ้นที่ใช้ในการเตรียมน้ำยา และอุปกรณ์ที่ใช้ ในการล้างฟิล์มทุกชิ้น (อุปกรณ์ทุกชิ้นที่สัมผัสน้ำยา) จะต้องได้รับการล้างทำความสะอาดเป็นอย่างดี และต้องชะ (rinse) ด้วยน้ำกลั่นก่อนการใช้งาน นอกจากนั้น ก็ต้องระวังว่า น้ำที่จะใช้ในการเจือจางน้ำยาก็ต้องเป็นน้ำกลั่นเช่นกัน มิฉะนั้นแล้ว จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่ใช้น้ำกลั่นในการเตรียมน้ำยา
    การใช้น้ำกลั่นจะมีความจำเป็นเมื่อเราต้องการเตรียมน้ำยาสร้างภาพที่มีสารเคมีบางตัวประกอบอยู่เป็นปริมาณน้อยมากๆ เช่น ในสูตรน้ำยาล้างฟิล์ม FX-1 ซึ่งมีการใช้ สารละลาย Possium Iodide 0.001% ในปริมาตร 50 ml นั้น เราไม่ต้องการให้อิออน ของเกลือชนิดอื่น มาแทรกการเข้าทำปฏิกิริยาของ Possium Iodide เราจึงควรใช้น้ำกลั่นในการเตรียม รวมถึงการเตรียมสารละลาย Possium Iodide 0.001% ด้วย นอกจากนั้น น้ำยาสร้างภาพที่มี Phenidone เป็นสารสร้างภาพ ซึ่งมักใช้ในปริมาณน้อยๆ ก็ควรจะใช้น้ำกลั่นในการเตรียม และในการทำละลาย Phenidone ด้วย แล้วเหตุใดจึงต้อง ทำละลาย Phenidone ? จะกล่าวต่อไปในเรื่องของการชั่ง - ตวง - วัด
    แต่สำหรับน้ำยาที่มีองค์ประกอบไม่ซับซ้อน สารเคมีที่ใช้เป็นองค์ประกอบ มีปริมาณค่อนข้างมาก หรือเป็นน้ำยาที่ผู้เตรียม ไม่ได้หวังผลอะไรไว้มากมากนักอาจเพราะเตรียมเพื่อใช้งานทั่วๆไป หรือเพื่อลดต้นทุนเพื่อการค้านั้น น้ำประปา หรือ น้ำประปาที่ ผ่านเครื่องกรองน้ำตามบ้าน ก็เพียงพอแล้ว แต่สำหรับน้ำดื่มบรรจุขวดโดยเฉพาะยี่ห้อดีๆ นั้น มักจะมีการเติมเกลือแร่บางชนิด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริโภค แต่กลับไม่เหมาะกับการใช้เตรียมน้ำยา ดังเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่กลับไปเหมาะที่จะใช้ washing เพื่อชะล้างเอาสาร fixer ออกในขั้นตอนการล้างฟิล์มและกระดาษมากกว่า

อุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมน้ำยา
    โดยพื้นฐานแล้วอุปกรณ์ที่เตรียมน้ำยานั้นจะต้องไม่ทำปฏิกิริยากับน้ำยาเสียเอง สามารถทนทานได้ทั้งในสภาวะที่เป็นกรดและเบส ดังนั้น ไม่ควรใช้ภาชนะโลหะ และพลาสติคแข็งใสพวกอะคลิลิกทุกชนิดในการเตรียมน้ำยา แนะนำให้ใช้ภาชนะที่ทำจากแก้วทนไฟ (Pyrex) หรือพลาสติคชนิดขุ่นเช่น PVC PP หรือ PE (HDPE) จะดีกว่า อย่างไรก็ดี หากต้องการตวงกรดเข้มข้น ควรใช้ภาชนะแก้วเท่านั้น
    และความสะอาดของเครื่องมืออุปกรณ์ทุกชิ้นมีความสำคัญยิ่ง หากเกิดการปนเปื้อน (contamination) ของสารเคมีตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่ง อาจทำให้ผลที่ ได้รับเปลี่ยนไปอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว และสารเคมีขวดนั้นก็จะเสียไปเลย

อุปกรณ์หลักที่ใช้ในการเตรียมน้ำยามีดังนี้
1. อุปกรณ์ให้ความร้อน เช่นเตาไฟฟ้า หรือ hot plate
โดยส่วนใหญ่แล้ว การเตรียมน้ำยาเกือบทุกตัวจะกำหนดให้ละลายในน้ำอุ่น ที่อุณหภูมิ 52 oC โดยประมาณ เนื่องจากว่าสารเคมีต่างๆ ซึ่งเป็นของแข็งนั้นจะละลายได้ดีขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น แต่ถ้าอุณภูมิสูงเกินไปจะเป็นการเร่งปฏิกิริยา Oxidation ระหว่างสารสร้างภาพ กับออกซิเจนในอากาศทำให้น้ำยาเสื่อมสภาพเร็วขึ้น อุปกรณ์ที่ใช้ให้ความร้อนจึงควรเป็นแบบที่สามารถคุมให้มีความร้อนอ่อนๆ ได้

2. เครื่องชั่งน้ำหนัก
การเลือกใช้เครื่องชั่งขึ้นอยู๋กับปริมาณสารที่ต้องการจะชั่ง สารเคมีที่ใช้ในการเตรียมน้ำยาตัวหนึ่งๆ อาจมีตั้งแต่น้ำหนักเป็น 100 g ไปจนถึงปริมาณการใช้เพียง 0.01 g ต่อน้ำยา 1 ลิตร จึงเป็นเรื่องที่ดีถ้าหากว่าเราสามารถหาซื้อเครื่องชั่งที่สามารถชั่งน้ำหนักได้มาก ถึงระดับเป็น ร้อยกรัมโดยมีความละเอียดในระดับทศนิยมตำแหน่งที่ 2 แต่แน่นอนว่าเครื่องชั่งชนิดนี้มักมีราคาแพง มักเป็นเครื่องชั่งแบบ ดิจิตอล และการชั่งที่สมบูรณ์ที่สุดนั้นก็ขึ้นอยู่กับทักษะการใช้งานของผู้ใช้ด้วย ทางเลือกที่อาจจะเหมาะสมกว่าคือจัดหาตราชั่ง 2 ตัว ตัวหนึ่ง เป็นแบบหยาบแต่เน้นปริมาณ ซึ่งใช้ชั่งสารปริมาณเป็นกิโลกรัมได้ เผื่อว่าจะผสมน้ำยาในปริมาณมากๆ ด้วย และเครื่องชั่งอีกตัว เป็นตราชั่งกลไกแบบแขนเดียว ที่ใช้ชั่งสารเป็นปริมาณไม่มาก มีความระเอียดในระดับ 0.1 กรัมก็พอ ส่วนในการชั่งสารที่มีความละเอียด มากกว่านั้นเราสามารถ เลี่ยงไปใช้การตวงแทน

3. ช้อนตักสาร
ควรเป็นช้อนพลาสติกหรือกระเบื้องเคลือบ ไม่ควรใช้ช้อนกระดาษในการตักสาร และห้ามใช้ช้อนตักสารที่ใช้ตักสารตัวหนึ่งไปตักสาร อีกตัวหนึ่งโดยไม่ล้างให้สะอาดเสียก่อน ทางที่ดีทีสุดคือแยกช้อนตักสารแต่ละตัวไปเลยห้ามใช้ปะปนกัน

4. กระทงหรือถ้วยสำหรับใส่สารเคมี
ใช้ใส่สารเคมีในขณะชั่งและเตรียมไว้สำหรับการผสม สามารถใช้ถ้วยพลาสติค หรือกระทงกระดาษเล็กๆก็ได้ ถ้าหากใช้เสร็จแล้วไม่อยากทิ้ง ควรเขียนไว้ว่ากระทงหรือถ้วยนี้เอาไว้ใช้ใส่สารเคมีตัวไหน แล้วใช้กับสารเคมีตัวนั้นไปตลอด เพื่อเลี่ยงการปนเปื้อน

5. ถ้วยตวง - กระบอกตวง
เช่นเดียวกันกับการใช้เครื่องชั่ง การตวงของเหลว เราควรคำนึงถึงปริมาณที่ต้องการตวง หรือความละเอียดที่ต้องการตวง ในการตวงสารปริมาณมากๆ เราสามารถเลือกใช้ ถ้วยตวง (beaker) ที่ทำจากแก้วหรือพลาสติคขนาดใหญ่ เช่น ขนาด 1 หรือ 2 ลิตร ส่วนการตวงสารในปริมาณน้อย เราควรเลือกใช้ กระบอกตวง (cylinder) ซึงมีหลายขนาดตั้งแต่ 500 ml, 250 ml, 100 ml ไปจนถึง 10 ml กระบอกตวงยิ่งมีขนาดเล็กก็ยิ่งตวงสารได้ละเอียดยิ่งขึ้น แต่ถ้าต้องการตวงสารที่ด้วยความละเอียดที่สูงขึ้น ควรใช้ หลอดแก้วตวงสาร ( pipette) แบบมีขีดบอกปริมาตรซึ่งการใช้งานค่อนข้างยากและต้องพิถีพิถันมาก

6. ภาชนะสำหรับผสมน้ำยา
ควรเป็นเหยือกหรือถังพลาสติคขนาดพอเหมาะกับปริมาณน้ำยาที่จะเตรียม  และเป็นภาชนะที่มีขีดบอกปริมาตร เนื่องจากสูตรการผสมน้ำยาส่วนใหญ่ ในขั้นตอนสุดท้าย จะระบุว่าเติมน้ำจนครบ 1000 ml (1 ลิตร) เราสามารถเติมน้ำ โดยดูจากขีดบอกปริมาตรข้างภาชนะได้  ถ้าเป็นไปได้ควรแยกใช้ภาชนะผสมน้ำยาเฉพาะกลุ่มน้ำยาที่จะผสมไปเลยเช่น เหยือกที่ใช้ผสม น้ำยาสร้างภาพ ก็ใช้ผสมแต่กลุ่มน้ำยาสร้างภาพ ไม่ควรนำมาผสมน้ำยาหยุดภาพ (stop bath) หรือน้ำยาคงภาพ (fixer)

7. พายสำหรับคนน้ำยา
เป็นพายพลาสติคหรือแก้ว

8. กรวย
ใช้สำหรับการกรองและรินน้ำยาเก็บใส่ขวด

9. สำลีหรือกระดาษกรอง
ใช้กรองตะกอนหรือฝุ่นผงออกจากน้ำยาโดยรองไว้ในกรวย

10. ขวดเก็บน้ำยา
ควรเป็นขวดพลาสติคขุ่น, สีชา หรือทึบแสง มีขนาดพอดีกับน้ำยาที่เตรียม เมื่อรินน้ำยาลงขวดแล้วควรให้น้ำยาเต็มขวดพอดี อาจใช้วิธีบิบ ข้างขวดจนน้ำยาปริ่มที่ปากขวดแล้วปิดให้สนิท หรือหาซื้อขวดแบบหีบเพลงซึ่งสามารถเปลี่ยนปริมาตรได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกัน ไม่ให้น้ำยาทำปฏิกิริยากับอากาศ ขวดที่เคยเก็บน้ำยาตัวใดก็ควรใช้เก็บเฉพาะน้ำยาตัวนั้น เขียนฉลากระบุข้างขวดถึงชื่อน้ำยา การใช้ และวันเดือนปี ที่เตรียม

ชั่ง - ตวง - วัด

การชั่ง

  • ต้องวางตราชั่งบนพื้นระนาบเรียบและแข็งแรง เช่นบนโต๊ะที่มั่นคง ผิวโต๊ะเรียบไม่เอียง แต่ที่ดีที่สุดคือวางบนแท่นที่หล่อ จากปูน
  • ต้องชั่งในห้องที่ลมสงบไม่เปิดพัดลม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้เครื่องชั่งละเอียดต้องใช้ในคลอบแก้วหรือตู้กระจก
  • ก่อนชั่งสารต้องมีการ calibration เครื่องชั่งก่อน (ผู้ใช้ควรศึกษาจากคู่มือการใช้เครื่อง)
  • ต้องทดน้ำหนักของวัสดุรองสารที่ใช้ใส่สารเคมีในขณะชั่ง ในกรณีของเครื่องชั่งดิจิตอลเราสามารถวางวัสดุรองสาร ลงไปก่อน แล้วกดปุ่ม Reset เครื่องจะตั้ง น้ำหนักเป็น 0 โดยตัดน้ำหนักของวัสดุรองสาร
การตวง
    แบ่งเป็น 2 กรณี คือการตวงของแข็ง (เป็นผง) และของเหลว

การตวงของแข็ง

  • สารเคมีควรเป็นผงละเอียดสม่ำเสมอ ไม่จับตัวเป็นก้อน
  • ตักสารเคมีด้วยช้อนตวง หรือใช้ช้อนตักสารตักใส่ถ้วยตวง ให้พูนเลยระดับปากช้อนหรือถ้วย แล้วใช้พายหรือไม้บรรทัดเล็กๆ ปาดผิวหน้าของผงสารให้เรียบเสมอกับระดับปากช้อนหรือถ้วย
การตวงของเหลว
  • ใช้สายตามองในระดับเดียวกันกับขีดข้างกระบอกตวง
  • ผิวหน้าของของเหลวมักจะเว้าสูงขึ้นในส่วนขอบที่ติดกับผิวภาชนะ ให้เรากำหนดตำแหน่งการวัดปริมาตร โดยดูจากส่วนท้องของผิวเว้า (ที่ผิวของของเหลว) ให้อยู่ในระดับเดียวกันกับ ขีดข้างกระบอกตวง
  • การเทสารออกจากกระบอกตวงให้เท ในช่วงสุดท้ายให้เอาจะงอยปากกระบอกตวงไปแตะผิวด้านในของภาชนะที่ใช้ผสมสาร เพื่อให้หยดของสารที่ค้างอยู่ที่จะงอยปาก ไหลออกมา ส่วนของเหลวที่เหลือค้างอยู่ในกระบอกตวงนั้นไม่ต้องชะออกมาให้หมด เพราะในกระบอกตวงจะทดปริมาณของเหลวที่เหลือนี้ไว้แล้ว
    ดังที่ได้กล่าวไว้ในเรื่องของอุปกรณ์ การชั่ง-ตวง-วัด นี้เราควรคำนึงถึงความต้องการในแต่ละงานว่าเราเน้นในเรื่องของปริมาณ มากหรือน้อยและ ต้องการความละเอียดมากหรือน้อยประการใด โดยส่วนใหญ่แล้วสารเคมีตัวได้ที่ใช้ในปริมาณมาก เช่น Sodium sulphite ที่ใช้ในน้ำยาสร้างภาพ ซึ่งมักใช้ในปริมาณเป็น 100 กรัมต่อลิตร หากเราชั่งหรือตวงพลาดไปสัก 0.2 - 0.5 กรัมก็ไม่ได้ มีผลอย่างมีนัยสำคัญ หรืออย่างในกรณีการเตรียมน้ำยาหยุดภาพ และน้ำยาคงภาพ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง เตรียมอย่างละเอียดถี่ถ้วนนัก เพราะมีผลต่อภาพที่ได้น้อยมาก เพื่อความสะดวก เราสามารถเลียงวิธีการชั่งมาเป็นการตวงแทนได้ ในตารางข้างล่างนี้ได้แสดงน้ำหนักโดยประมาณเป็นกรัมของสารต่างๆ เทียบกับปริมาณที่ตวงเป็นช้อนโต๊ะ และช้อนชา
 
ารเคมี 1 ช.ต. 1/2 ช.ต. 1 ช.ช. 1/2 ช.ช. 1/4 ช.ช. 1/8 ช.ช.
Amidol 7.0
3.5
2.3
1.2
0.7
0.4
Benzotriazole
6.0
3.0
2.1
1.0
0.5
0.25
Borax
15.0
7.5
5.0
2.5
1.3
0.7
Boric acid
12.0
6.0
4.1
2.0
1.0
0.5
Chlorquinol
9.7
5.0
3.4
1.7
0.8
0.45
Glycin
4.1
2.1
1.4
0.7
0.35
0.2
Hydroquinone
9.0
4.5
3.0
1.5
0.75
0.4
Kodalk
14.5
7.2
4.8
2.4
1.2
0.6
Metol
10.5
5.25
3.5
1.75
0.85
0.45
Phenidone
6.0
3.0
2.0
1.0
0.5
0.25
Potassium Alum
16.8
8.4
5.6
2.8
1.5
0.8
Potassium Bromide
19.5
10.0
6.5
3.2
1.6
0.8
Potassium Dichromate
22.0
11.5
7.9
4.1
2.2
1.1
Potassium Ferricyanide
15.5
8.0
5.5
2.8
1.5
0.8
Silver Nitrate
41.0
20.7
13.8
7.0
3.6
1.8
Sodium Bisulfate
22.9
11.5
7.7
4.0
2.0
1.0
Sodium Bisulfite
18.0
9.0
6.0
3.0
1.5
0.75
Sodium Carbonate
18.0
9.0
6.0
3.0
1.5
0.75
Sodium Sulfate
22.5
11.4
7.7
3.8
2.0
1.0
Sodium Sulfite
22.8
11.4
7.6
3.8
1.9
1.0
Sodium Thiosulfate
18.0
9.0
6.0
3.0
1.5
0.75
ตารางที่ 2 แสดงน้ำหนักเป็นกรัมของสาร เทียบกับปริมาณการตวงเป็นช้อนโต๊ะ และช้อนชา *2

    ส่วนกลุ่มน้ำยาที่เรามักให้ความสำคัญในเรื่องความระเอียดของการเตรียม คืดกลุ่มน้ำยาสร้างภาพ โดยเฉพาะปริมาณ ของสารสร้างภาพ หรือสารชนิดอื่นที่ใช้ในปริมาณไม่มากซึ่งความผิดพลาดเพียง 0.01 กรัมต่อลิตร อาจส่งผลต่อภาพที่ได้อย่างมาก แต่หากว่าเราไม่มีตราชั่งที่ละเอียดมากๆ เราสามารถเลี่ยงไปใช้การตวงแทน

การใช้การตวงปริมาตรแทนการชั่งละเอียด
    เช่น ถ้าในสูตรน้ำยาสูตรหนึ่งต้องการใช้ Phenidone 0.20 กรัม เราสามารถทำได้โดยการชั่ง Phenidone ให้ได้น้ำหนัก 1 กรัม แล้วละลายในน้ำกลั่น 100 ml คนจนละลายให้หมด เราสามารถใช้กฎอัตราส่วนหรือบรรญัติไตรยางค์ เทียบได้ว่า
ปริมาณ Phenidone 1 กรัม ละลายอยู่ในสารละลายปริมาตร                                       100                      ml
ดังนั้น ปริมาณ Phenidone 0.2 กรัม ละลายอยู่ในสารละลายปริมาตร             (100 / 1) x 0.2  = 20          ml
เราจึงสามารถตวงสารละลายดังกล่าวมา 20 ml แล้วผสมลงไปในน้ำยาได้
    แต่วิธีการดังกล่าวนี้ผู้เตรียมต้องลดปริมาณน้ำที่ใส่ไว้ในตอนแรกลง ให้พอเพียงกับปริมาณสารละลายที่จะเติมลงไป และเรื่องของ สารละลายที่เหลือนั้น คงเป็นความสิ้นเปลืองหากเราต้องทิ้งไป เนื่องจากสารละลายของสารในกลุ่มสารสร้างภาพจะเก็บได้ไม่นาน แต่จะเป็นการประหยัดกว่า หากจะชวนเพื่อนฝูงมาใช้น้ำยาที่เรากำลังจะเตรียมเพื่อให้มีปริมาณการใช้เยอะขึ้น และใช้สารเคมีได้อย่าง คุ้มค่า หรืออีกวิธีหนึ่ง ในกรณีของสารละลาย Phenidone นี้ เราสามารถเติม Sodium Sulphite, Anhydrous ลงไปด้วย ประมาณ 10 กรัม เพื่อป้องกันปฏิกิริยา Oxidation ของ Phenidone กับ oxigen ในอากาศทำให้สารละลายนี้เก็บได้นานขึ้น เพื่อใช้ในครั้งต่อๆไป  แต่เมื่อเราจะใช้สารละลายนี้ก็ควรจะลดปริมาณ Sodium Sulphite, Anhydrous ที่อยู่ในสูตรลง คือลดลงไป 2 กรัม ต่อสารละลาย 20 ml
    ในบางสูตร เจ้าของสูตรได้คำนวนให้เสร็จโดยกำหนดให้ใช้สารละลายของสารตัวนั้นๆแทน เช่นในสูตรน้ำยาล้างฟิล์ม FX-1 กำหนดให้ใช้ สารละลาย Possium Iodide 0.001% เป็นปริมาตร 50 ml แทนที่เราจะต้องชั่ง Possium Iodide น้ำหนัก 0.0005 กรัม !

การเตรียมน้ำยา

  • ใส่สารเคมีต่างๆ ตามลำดับที่กำหนดในสูตร
  • หากสารตัวแรกเป็นสารสร้างภาพเช่น Metol ให้ตัก Sodium Sulphite เพียงปลายช้อนเพียงนิดเดียว จากปริมาณที่ได้เตรียมไว้ ใส่ลงไปก่อนเพื่อป้องกันการเกิด Oxidation ของสารสร้างภาพ แต่ถ้าเราตัก Sodium Sulphite มาใส่มากเกินไป จะทำให้ Metol ละลายน้ำได้ช้าลงหรืออาจละลายไม่หมด
  • ในการละลายสารเคมีตัวใดๆ ต้องคนให้ละลายให้หมดโดยสมบูรณ์ ก่อนจะใส่สารเคมีตัวถัดไป
  • ในกรณีที่ต้องเจือจางกรดเข้มข้น ให้เทกรดลงในน้ำ ห้ามเทน้ำลงในกรด และควรระมัดระวังไอระเหยของกรดด้วย
  • หลังจากน้ำยาละลายเข้ากันเป็นเนื้อเดียวแล้ว ให้เทใส่ขวดโดยผ่านกรวยที่มีสำลีหนาๆ หรือ กระดาษกรองเบอร์หยาบ รองอยู่เพื่อกรองเอาฝุ่นผงต่างๆ ออกจากน้ำยา
  • เทน้ำยาจนเต็มขวดปิดฝาให้สนิท ควรเก็บไว้ประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนใช้งานเพื่อให้สารเคมีทำปฏิกิริยากันโดยสมบูรณ์ก่อน
  • แม้ว่าน้ำยาที่ใช้สามารถเก็บไว้ได้นานหรือสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ แต่น้ำยาที่สดใหม่ยอมมีคุณภาพดีกว่าเสมอ
เอกสารอ้างอิง
- สุดา เกียรติกำจรวงศ์, นวลจันทร์ เถระพัฒน์. เคมีภาพถ่าย 1, ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีทางการพิมพ์
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพ.
- นวลจันทร์ เถระพัฒน์, สุดา เกียรติกำจรวงศ์, พรทวี พึ่งรัศมี. คู่มือปฏิบัติการถ่ายภาพขาวดำ, พิมพ์ครั้งที่ 1,  สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพ. 2541. ISBN 974-639-290-5.
- สมาน เฉตระการ. การถ่ายภาพเบื้องต้น, พิมพ์ครั้งที่ 12, อรุณการพิมพ์, กรุงเทพ. 2532.
*2- ธนชัย ศักดิ์มังกร. HOW TO B&W, FORTE FILMS & PAPERS, เอพีเอส แอดวานส์ โฟโต้ซัพพลาย, กรุงเทพ.
- Adams, Ansel. The negative, Murray Printing Company, USA, 1989. ISBN 0-8212-1131-5.
*1- Smith, Jack W. The Photographic and Chemistry Colection, http://www.jetcity.com/~mrjones .
- Fotoinfo.com, http://www.fotoinfo.com .
- Amateur Photographic Science, http://www.cris.com/~Bjornb .

"http://thaimonochrome.tripod.com"